วิธีการขึ้นรถไฟระหว่างเมืองในอังกฤษ
หลายๆ คนที่มาถึงอังกฤษใหม่ๆ มักจะตกใจไปกับจำนวนที่มากมายของรถไฟและชานชาลาที่อังกฤษ ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ว่ามันดูวุ่นวาย ทั้งประเภทของตั๋ว ชนิดของรถไฟ สถานที่ขายตั๋ว หรือวิธีการอ่านข้อมูลบนตั๋วรถไฟ และนี่คือคำแนะนำขั้นเบื้องต้นจากทาง GoUni เกี่ยวกับการขึ้นรถไฟระหว่างเมืองในอังกฤษค่ะ :)
ระบบการรถไฟของอังกฤษนั้นเป็นหนึ่งในระบบการเดินทางแรกๆ ของโลก ปัจจุบันมีบริษัทผู้ให้บริการรถไฟมากกว่า 28 ราย และถึงแม้ว่ามันจะดูเหมือนยุ่งเหยิงและยุ่งยาก แต่ที่จริงแล้ว ระบบรถไฟของอังกฤษค่อนข้างดีมากเลยทีเดียวล่ะ รถไฟส่วนใหญ่โดยปกติแล้วจะสะอาดและตรงต่อเวลา (มาก) ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถวางแผนการเดินทางได้ง่าย ซึ่งมันก็ช่วยให้อย่างอื่นง่ายไปด้วย (เช่นการวางแผนไปสัมภาษณ์งานหรือนัดใครออกไปข้างนอก)
ก่อนอื่น เรามารู้จักกับตัวช่วยสำคัญสำหรับนักเรียนกันก่อนดีกว่า ซึ่งได้แก่ บัตรลดราคา หน้าตา limited edition (ด้วยชื่อและรูปของเจ้าของบัตร) หรือชื่อทางการที่เรียกว่า บัตร 16-25 Railcard (Young person railcard) นั่นเอง
Railcard เป็นบัตรประจำตัวผู้โดยสาร ที่สามารถเอาไว้ใช้ลดราคาค่าโดยสารรถไฟได้ 1/3 จากราคาเต็มของตั๋ว โดยจะสามารถแบ่งได้หลากหลายประเภทขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้ใช้ ซึ่งผู้ที่มีอายุอยู่ในระหว่าง 16-25 ปี ก็จะสามารถซื้อบัตร Railcard ชนิด 16-25 ได้ค่ะ ถ้าหากว่าอายุเกิน 25ปี แต่ว่าเป็นนักเรียนเต็มเวลา (Full-time student) ก็สามารถใช้บัตร Railcard ชนิดนี้ได้เช่นกัน แต่ต้องมีจดหมายรับรองจากมหาวิทยาลัยไปยืนยันด้วยนะ
บัตรนี้สามารถสมัครได้ทั้งที่สถานีรถไฟ (โดยนำรูปถ่ายไปให้เจ้าหน้าที่ติดที่บัตรเอง) และออนไลน์ค่ะ
ราคาของบัตร Railcard อยู่ที่ £30 ต่อปี และ £70 ต่อสามปีค่ะ (ราคาปัจจุบันในปี 2015)
ที่สำคัญก็คือ ถ้าใช้บัตร Railcard ในการลดราคาค่าตั๋วแล้ว ต้องพกบัตร Railcard นี้ไว้ตลอดเวลาเมื่อเดินทางนะคะ เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วมักจะขอดูบัตร Railcard ด้วย
ตั๋วเดินทางโดยทั่วไปจะมีหน้าตาแบบนี้ รายละเอียดข้างในก็จะประกอบไปด้วย
1. Class - ชนิดของที่นั่งโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นชั้นมาตรฐานและเฟิร์สคลาส
2. Ticket type - ชนิดของตั๋วโดยสาร ว่าเป็นเที่ยวเดียว หรือไปกลับ
3. Start Date / Valid Until - วันที่สำหรับเดินทาง และวันหมดอายุของตั๋ว
4. From - สถานีเริ่มต้น
5. To - สถานีปลายทาง
6. Route - ชื่อของบริษัทผู้ให้บริการ
7. Price - ราคาของตั๋ว
วิธีการซื้อตั๋ว
ตั๋วรถไฟสามารถซื้อได้ 3 ช่องทางด้วยกันดังต่อไปนี้ค่ะ
1 ซื้อจากเคาท์เตอร์ที่สถานี
เราสามารถซื้อตั๋วกับเจ้าหน้าที่ที่สถานีได้โดยตรงในวันที่ต้องการจะเดินทางเลยค่ะ วิธีการก็คือเดินไปที่เคาท์เตอร์ขายตั๋วและบอกสถานที่กับเวลาที่ต้องการเดินทางได้เลย ถ้ามีบัตร Railcard ก็ยื่นให้เจ้าหน้าที่ดูได้ และสามารถชำระเงินได้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตค่ะ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะออกตั๋วให้ ซึ่งหากมีคำถามหรือข้อสงสัยอะไรก็สามารถถามเจ้าหน้าที่ได้เลยค่ะ วิธีนี้เหมาะกับคนที่เพิ่งมาใหม่หรือยังไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการซื้อตั๋วรถไฟออนไลน์หรอวิธีการใช้เครื่องขายตั๋วอัตโนมัติค่ะ
2 ซื้อผ่านเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ
มักจะมีอยู่หลายเครื่องประจำอยู่ตรงเกือบทุกทางเข้า-ออกสถานีค่ะ แล้วก็ไม่ต้องมองหาปุ่มกดอะไรนะ เพราะว่าเจ้าเครื่องพวกนี้เป็นทัชสกรีน วิธีการใช้ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก จิ้มที่หน้าจอเลือกชนิดของที่นั่ง สถานทีที่ต้องการจะไป และเวลาออกเดินทางได้เลย และถ้าหากมีเจ้าตัว Railcard หรือบัตรส่วนลดอื่นๆ ก็อย่าลืมจิ้มหน้าจอบอกว่าเรามีบัตรส่วนลดล่ะ วิธีการชำระเงินนั้นก็สามารถจ่ายได้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิตหรือเดบิตอีกเช่นเดียวกัน (แต่ก็ต้องดูด้วยนะ บางตู้ก็ไม่รับเงินสด) ซึ่งหลังจากชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ตั๋วและใบเสร็จก็จะถูกปรินท์ออกมาที่ช่องรับตั๋วทางด้านล่าง วิธีการซื้อตั๋วแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้แพลนการเดินทางมาล่วงหน้า หรือไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อตั๋วล่วงหน้า และไม่อยากไปต่อคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อกับเจ้าหน้าที่
3 ซื้อตั๋วออนไลน์
เราสามารถที่จะเข้าไปเช็ครอบรถไฟและราคาหรือแม้กระทั่งจองตั๋วรถไฟออนไลน์จากทุกบริษัทผ่าน www.nationalrail.co.uk ได้อย่างสะดวกสุดๆ โดยเริ่มจากเลือกวันที่และเวลาที่ต้องการเดินทาง ระบุสถานีต้นทางและปลายทาง (อย่าลืมใส่ข้อมูลว่ามีบัตร Railcard ลงไปด้วยนะ) จากนั้นระบบจะขึ้นข้อมูลต่างๆ มาให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ ราคา และตัวเลือกต่างๆให้เราเลือกอีกทีหนึ่ง แล้วก็ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิตได้เลย ตั๋วจะสามารถเลือกได้ว่าจะปรินท์เองหรือไปรับที่สถานี ซึ่งถ้าเลือกว่าจะรับตั๋วที่สถานีก็จะมีหมายเลข reference มาให้ พอถึงวันเดินทาง ก็ไปที่ตู้ขายตั๋วอัตโนมัติ ใส่บัตรเครดิตหรือเดบิตใบที่ใช้ในการชำระเงินเข้าไป ใส่หมายเลข reference ลงไป แล้วตั๋วก็จะถูกปรินท์ออกมาค่ะ วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องการวางแผนการเดินทางล่วงหน้า
ข้อดีสำหรับการซื้อตั๋วออนไลน์
- สะดวกและรวดเร็ว เราสามารถปรินท์ตั๋วเองที่บ้านหรือไปรับตั๋วที่ตู้เมื่อไหร่ก็ได้ก่อนออกเดินทาง
- ถ้าซื้อล่วงหน้า มักจะได้ราคาถูกกว่าไปซื้อที่เครื่องหรือซื้อผ่านพนักงานขายตั๋วในวันเดินทาง
- สามารถจองที่นั่งได้ด้วยนะ
หลังจากที่มีตั๋วอยู่ในมือแล้ว ก็มาดูกันว่าจะไปขึ้นรถไฟได้ที่ไหน ตรงนี้ก็สามารถดูได้จากบอร์ดสีดำอันใหญ่ๆ ที่สถานีได้เลย มันจะมีบอกทั้งเที่ยวรถไฟว่ามาจากที่ไหน กำลังจะไปจอดที่ไหนบ้าง (เช็คดีๆ ตรง ‘calling at’ นะว่ารถไฟสายนี้จะไปจอดที่ที่เรากำลังจะไปจริงหรือเปล่า) เวลา ชานชาลา ซึ่งถ้าหากรถไฟดีเลย์หรือแคนเซิลก็จะมีบอกเช่นเดียวกัน
บางสถานีจะบังคับให้เราสอดตั๋วก่อนถึงจะขึ้นรถไฟได้ บางสถานีก็ไม่มี แต่ก็มักจะมีคนมาเดินตรวจตั๋วทีหลังบนรถไฟ ซึ่งถ้าหากเดินทางโดยไม่มีตั๋วแล้วถูกจับได้ละก็ อาจจะต้องเสียค่าปรับ หรือซื้อตั๋วใหม่กับเจ้าหน้าที่(และใช้ส่วนลดไม่ได้ด้วยนะ)
เพื่อเป็นการคอนเฟิร์ม ควรจะเช็คที่ชานชาลาอีกรอบว่ารถไฟที่เราจะไปน่ะ จอดที่ชานชาลานี้จริงหรือเปล่า และจะผ่านที่ๆ เรากำลังจะไปไหม พอรถไฟมาจอดปุ๊ป อย่าเพิ่งรีบขึ้น ให้หยุดรออยู่ด้านข้างประตูให้คนข้างนอกออกมาก่อนนะ หลังจากนั้นก็ขึ้นรถไฟไปหาที่ที่เราจองเอาไว้ หรือถ้าไม่ได้จอง ก็ลองดูว่าตรงไหนที่บอกว่า ‘available’ แล้วก็นั่งได้เลย
บนรถไฟจะมีห้องน้ำอยู่บริเวณช่วงต่อของตู้โดยสาร เราสามารถซื้อขนมและเครื่องดื่มได้บนรถไฟเช่นเดียวกัน จะคอยมีประกาศบอกว่าตอนนี้รถไฟกำลังจะไปจอดที่ไหน เพราะฉะนั้นคอยฟังให้ดีๆ ล่ะ
พอถึงสถานีที่จะลงแล้ว อย่าลืมกดปุ่มเพื่อเปิดประตูรถไฟด้วยนะ เพราะบางทีมันก็ไม่ได้เปิดให้โดยอัตโนมัติ :)
Leave A Comment
รับข่าวสารจากเรา
เราจะคอยอัปเดตคุณด้วยการแจ้งเตือนข่าวสารและความช่วยเหลือเมื่อคุณต้องการ